ตรวจก่อน ป้องกันได้
การตรวจสุขภาพประจำปีไม่ได้เป็นเรื่องของคนป่วยอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ดีกับทุกคน เพราะนอกจากจะเป็นการค้นหาความเสี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดโรคแล้ว หากเราตรวจพบโรคใดโรคหนึ่งได้เร็ว จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้ประสบความสำเร็จมากขึ้นสุขภาพดีง่ายๆ ดังนั้นการตรวจสุขภาพและการดูแลตนเอง เริ่มต้นง่ายๆ ได้ที่ตัวคุณ เพราะการป้องกัน ย่อมง่ายกว่าการรักษา
ควรเริ่มตรวจสุขภาพประจำปีตอนอายุเท่าไหร่
การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องใกล้ตัวสำคัญสำหรับทุกคนอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นวิธีที่จะทำให้เราได้รู้จักร่างกายของตนเองว่ามีจุดบกพร่องตรงจุดไหนหรือไม่ หากมีเราจะสามารถรักษาได้ทันเวลา โดยปกติแล้วการตรวจร่างกายควรจะเริ่มตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ในกรณีที่มีความสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงโรคก็สามารถเข้ารับการตรวจได้ทันทีเช่นกัน เพราะบางโรคต้องพึ่งเวลาในการรักษาที่รวดเร็ว
เลือกตรวจสุขภาพอย่างไร…ให้เหมาะกับวัย
สภาพร่างกายของคนเราเปลี่ยนแปลงไปตามวัย พันธุกรรม รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน หากเราเลือกตรวจสุขภาพให้เหมาะกับวัย และการใช้ชีวิต เราก็จะรู้เท่าทันโรค และรู้สภาวะต่างๆ ในร่างกายของเราได้มากดีขึ้น
ตรวจสุขภาพตามช่วงอายุ 30-39 ปี
ช่วงวัยนี้ หลายคนอาจทำงานหนักเพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิต จนมองข้ามความสำคัญในการดูแลสุขภาพ ซึ่งหารู้ไม่ว่า ช่วงวัยนี้เป็นจุดเริ่มต้นของบางโรคที่อาจส่งผลหรือแสดงอาการในวัยที่มากขึ้น ดังนั้น นอกจากการตรวจสุขภาพพื้นฐานแล้ว ควรตรวจประเมินความเสี่ยงโร หลอดเลือดหัวใจ ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และฉีดวัคซีนหากยังไม่มีภูมิคุ้มกัน เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้
ตรวจสุขภาพตามช่วงอายุ 40-59 ปี
ในช่วงวัยนี้จะพบว่าโรคภัยต่างๆ มักเริ่มแสดงอาการ แต่หากเราตรวจสุขภาพเป็นประจำ โรคที่พบอาจอยู่ในระยะแรกๆ ที่สามารถรักษาให้หายได้อย่างรวดเร็ว หรือใช้เวลารักษาไม่นานนักฉะนั้นควรสังเกตร่างกายของตัวเองให้ดีว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ และไม่ละเลยในการตรวจสุขภาพประจำปี ผู้หญิงวัยนี้ควรตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านมอย่างละเอียดเพราะอยู่ในวัยที่มีความเสี่ยงสูง ผู้ชายวัยนี้นอกจากจะต้องตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐานแล้ว ควรเลือกตรวจโปรแกรมตรวจความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก
ตรวจสุขภาพตามช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป
เป็นวัยที่อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเริ่มถดถอยและเสื่อมลงเรื่อยๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตรวจสุขภาพอย่างละเอียด เพื่อดูการทำงานของอวัยวะในส่วนต่างๆ ว่าผิดปกติหรือไม่ เช่น การทำงานของหัวใจ ไต สมอง ช่องท้อง รวมทั้งตรวจหาความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่างๆ ที่สำคัญในช่วงวัยนี้ยังควรหมั่นพบแพทย์เฉพาะทางเป็นประจำเพื่อติดตามผลตรวจอยู่เสมอ